ศึกฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชีย รายการเอเอฟซี แชมป์เปี้ยนส์ ลีก 2021 รอบน็อคเอาท์ โซนตะวันออก ก่อนหน้านี้คลอดโปรแกรมการแข่งขันออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย 8 ทีม4 คู่ จะทำการแข่งขันเพียงแค่นัดเดียว ซึ่งในรอบนี้โซนตะวันออกสโมสรต่างๆจะได้โอกาสเล่นในบ้านของตัวเอง 4 ทีม ส่วนอีก 4 ทีม จะลงเล่นในฐานะทีมเยือน โดยโปรแกรมของเอเอฟซี แชมป์เปี้ยนส์ ลีก 2021 รอบน็อคเอาท์ โซนตะวันออก ประกอบไปด้วย
14 ก.ย. 64 อุลซาน ฮุนได (เกาหลีใต้) – คาวาซากิ ฟรอนตาเล (ญี่ปุ่น) อุลซาน มุนซู สเตเดี้ยม
14 ก.ย. 64 นาโงย่า แกรมปัส (ญี่ปุ่น) – แดกู เอฟซี (เกาหลีใต้) โตโยต้า สเตเดี้ยม
15 ก.ย. 64 ชนบุค ฮุนไดฯ (เกาหลีใต้) – บีจี ปทุมยูไนเต็ด (ไทย) ชอนจู เวิลด์คัพ สเตเดี้ยม
15 ก.ย. 64 เซเรโซ โอซากา (ญี่ปุ่น) -โปฮัง สตีลเลอร์(เกาหลีใต้) นากาอิ สเตเดี้ยม
บีจี ปทุมยูไนเต็ด หนึ่งเดียวจากไทยที่หลุดเข้ามาในรอบนี้ต้องมาเจองานหนักพบกับ ชนบุค ฮุนไดฯ(เกาหลีใต้) แชมป์เอเชีย 2 สมัย ปี 2006,2016 ซึ่งต้องบุกเยือนในวันที่ 15 ก.ย.64 ก่อนที่จะถึงเกมดังกล่าววันนี้ลองไปดูกันว่าสนามฟาดแข้งที่จะรองรับเกมการแข่งขันระหว่างชนบุค ฮุนไดฯ(เกาหลีใต้)-บีจี ปทุมยูไนเต็ด(ไทย) ซึ่งเป็นรังเหย้าของสโมสรจากเกาหลีใต้มีความสุดยอดแค่ไหน?
ชอนจู เวิลด์คัพ สเตเดี้ยม
สนามแห่งนี้เป็นรังเหย้าของชนบุค ฮุนได มอร์เตอร์ คู่แข่งของ บีจี ปทุมยูไนเต็ด เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเป้าหมายหลักคือการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้ กับ ญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพร่วมกัน โดยสนามเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พ.ย. 2001 สนามมูลค่า 3,800 ล้านบาท พื้นสนามเป็นหญ้าจริง สนามแห่งนี้มีความจุ 42,477 ที่นั่ง ในศึกฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกันสนามใช้จัดการแข่งขันจนถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย เกมที่เม็กซิโก แพ้ สหรัฐฯ 0-2
ชนบุค ฮุนได มอร์เตอร์ ใช้สังเวียนเหย้าแห่งนี้คว้าแชมป์เคลีกถึง 8 สมัย 2009, 2011, 2014, 2015, 2017, 2018, 2019, 2020 อีกทั้งยัง ใช้เป็นสังเวียนเหย้าในการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซีแชมป์เปี้ยนส์ลีกตลอดมา 56 เกมที่ลงเล่นที่สนามแห่งนี้ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2004-2020 ผลงานถือว่ายอดเยี่ยม ชนะ 33 เกม เสมอ 10 เกม แพ้ 13เกม โดยอุณหภูมิช่วงเดือนกันยายน สูงสุดจะอยู่ที่ 27 องศา ต่ำสุด 16 องศา